ขับรถเที่ยว ยุโรป

ขับรถเที่ยวยุโรปด้วยตัวเอง 

ขับรถเที่ยว ยุโรป ด้วยตัวเอง 

 

ขับรถเที่ยว ยุโรป –  เดินทางสู่ เยอรมัน ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ก ยุโรปไปเองง่าย ไม่แพงอย่างที่คิด ยุโรป ทวีปที่น่าไปเที่ยวที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก สถานที่หลายแห่งเป็นดินแดนในฝันของแทบทุกคนที่อยากไปเห็นกับตาสักครั้ง ผมและน้องปลาก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้นที่อยากไป แต่มันติดอยู่หลายอย่างทำให้คิดว่าไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นค่าทัวร์เดินทางที่แพงแสนแพง แถม Package ทัวร์เที่ยว 6 วัน 3 ประเทศ เสียเวลาเดินทางก็ 2 วันแล้วดูมันไม่คุ้มอยากแรง จะให้ไปเองก็ไม่แน่ใจว่าจะหลงไหม ยิ่งสมัยก่อนไม่มี Internet ดี ๆ จะใช้ Google Map นำทางก็ยังไม่ดี แถมรถเป็นพวงมาลัยซ้ายอีก ทำให้รู้สึกว่าการไปยุโรปต้องเก็บเงินกันพอสมควรเลยถึงจะไปได้ จนวันนึงได้เห็นกระทู้ขับรถเที่ยวยุโรปตะวันออกช่วงฤดูใบไม้ร่วงในพันทิปแล้วรู้สึกว่าคงต้องลองวางแผนดูสักทีว่า ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ถึงจะไปได้ เลยทำให้รู้ว่ามันก็มีวิธีทำให้ค่าใช้จ่ายไม่แพง แต่เที่ยวได้เต็มที่เหมือนกันนะ รีวิวขับรถเที่ยวยุโรป ตอนนี้เลยขอสรุป 10 ขั้นตอนวางแผน ขับรถเที่ยวยุโรปด้วยตัวเอง มาให้อ่านกัน

 

ขั้นตอนที่ 1 หาเพื่อนร่วมทริป (มาช่วยหารค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร)

ไม่รู้เหมือนกันว่าผมคิดไปคนเดียวหรือเปล่าว่าไปยุโรปควรขับรถเที่ยว เหตุผลง่าย ๆ ของผมคือเราไปเที่ยวหลายประเทศ หลายเมือง แต่ละเมืองนอนแค่คืน 2 คืน ก็ย้ายที่อีกแล้ว การลากกระเป๋าไปสถานีรถไฟหรือรถบัสไม่น่าจะสนุกเท่าไหร่ การขับรถเที่ยวนอกจากจะทำให้การขนกระเป๋าไม่เป็นภาระแล้ว ยังทำให้สามารถยืดหยุ่นเรื่องเวลาเดินทางได้อีกด้วย แต่ถ้าใครมีเงื่อนไขไม่เหมือนผม เช่น เที่ยวแบบแกรนด์ประเทศเดียว แล้วหาที่พักใกล้สถานีรถไฟในราคาที่พอใจได้ หรือ พักแต่ละที่นาน ๆ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องขับรถก็ได้

 

ข้อเสียของการขับรถเที่ยวก็มีเหมือนกัน

ข้อเสียของการขับรถเที่ยวคือ ราคามันแพงกว่าถ้าเดินทางแค่ 2 คน ทั้งค่าเช่า ค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ ซึ่งจริง ๆ ผมก็ไม่เคยเทียบกับค่าสาธารณะเหมือนกันว่ามันแพงกว่าเท่าไหร่ แต่รู้แค่ว่าเงื่อนไขที่จะทำให้มันถูกกว่าเดินทางด้วยรถสาธารณะคือ หาคนมาช่วยหาร เพราะว่ารถเก๋งคันนึงนั่งได้ 4 คน ถ้าเราหาเพื่อนร่วมทริปได้ครบ 4 คน ค่าเช่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าที่จอดรถ ค่าอาหาร รวมถึงค่าห้องพัก (นอนห้องสำหรับ 4 คน) จะถูกหาร 4 ทั้งหมด ซึ่งมันจะถูกลงมากแต่ยังสะดวกสบายเหมือนเดิม ผมสรุปยอดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทั้งทริป 15 วัน รวมค่าเช่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าที่จอดรถ เป็นเงินทั้งหมด 34,600 บาท หาร 4 แล้วจ่ายคนละ 8,650 บาท ลองหาข้อมูล Eurail Pass แบบ 3 ประเทศ 10 วัน ราคาก็เกินหมื่นไปไกลแล้ว

 

เงื่อนไขในการหาเพื่อนร่วมทริปไม่ใช่แค่เรื่องอยากไปเที่ยวเหมือนกัน แต่มันต้องมีรูปแบบการเที่ยวที่คล้ายกัน ชอบที่เที่ยวคล้ายกัน กินอยู่คล้ายกัน ไม่งั้นนี่จะเป็นทริปแรกและทริปเดียวที่ได้ไปด้วยกัน ถ้าใครมีเพื่อนที่เที่ยวด้วยกันบ่อย ๆ อยู่แล้ว และรู้สึกว่ามี Lifestyle ในการเที่ยวคล้ายกันปัญหาเรื่องนี้ก็หมดไป เหลือแค่เรื่องงบประมาณ กับ เรื่องวันลาไปเที่ยวตรงกันได้ไหม ผมมีปัญหากับเรื่องนี้พอสมควร เพราะการเดินทางไปเที่ยวทีละ 15 วัน ไม่ใช่ทุกคนจะหยุดตรงกันได้ กว่าจะหาคนมาร่วมทริปได้ก็นานอยู่ แต่โชคดีที่ได้น้องชาย และ น้องสะใภ้ไปด้วย และโชคดีอีกที่ไปแล้วกลับมายังสามารถมีทริปต่อไปได้ เพราะเราไม่เคยไปเที่ยวด้วยกันแบบจ่ายเงินเองมาก่อนเลย 5555

 

ขั้นตอนที่ 2 กำหนดวันเดินทาง

หลังจากได้เพื่อนร่วมทริปแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ลงมติหาวันเดินทาง ขั้นตอนนี้ก็ยากน้อยกว่าหาเพื่อนเที่ยวนิดเดียว โดยเฉพาะถ้าเราต้องการเดินทางไปเที่ยวนาน ๆ ผมตั้งใจไว้แล้วว่าจะไปทริปนี้ไม่น้อยกว่า 10 วัน แต่ก็ต้องไม่เกิน 16 วัน เพราะว่าคนทำงานประจำมีวันลาจำกัด เรื่องจำนวนวันเดินทางควรกำหนดให้ยืดหยุ่นได้เล็กน้อย เพราะเวลาจองตั๋วเครื่องบิน การขยับวันเข้าออกเล็กน้อยอาจจะทำให้ได้ราคาต่างกันพอสมควร

 

ฤดูกาลก็มีผลต่อการเที่ยวนะ

การเลือกช่วงเวลาก็เหมือนการเลือกฤดูกาลนั่นแหละ ยุโรปมีทั้งหมด 4 ฤดู ได้แก่

– ฤดูใบไม้ผลิ เดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม ดอกไม้เริ่มบาน บ้านเมืองจะมีดอกไม้ประดับประดา อุณหภูมิเย็นสบาย เที่ยวได้นานเพราะพระอาทิตย์ตกประมาณ 2 ทุ่ม

– ฤดูร้อน เดือนมิถุนายน ถึง สิงหาคม ร้อน หน้าร้อนนอนอยู่บ้านก็ได้มั้ง 5555 ฤดูนี้เที่ยวได้นานมาก พระอาทิตย์ตกตอนโน้น 3 – 4 ทุ่ม

– ฤดูใบไม้ร่วง เดือนกันยายน ถึง พฤศจิกายน ใบไม้แดงหลายที่ในยุโรปก็สวยไม่แพ้ญี่ปุ่น อากาศเริ่มหนาว พระอาทิตย์ตกเร็ว

– ฤดูหนาว เดือนธันวาคม ถึง กุมภาพันธ์ ถ้าอยากเห็นหิมะก็ต้องมาเที่ยวช่วงนี้ แต่หนาวแน่นอน ฤดูนี้ไม่แนะนำให้ขับรถเที่ยวเอง เพราะคนไทยไม่ถนัดขับรถบนหิมะ แถมเที่ยวได้น้อย พระอาทิตย์ตกตั้งแต่ 4 โมงเย็น และ ที่เที่ยวบางที่จะปิดอยู่

 

ผมเลือกช่วงเวลาเที่ยวง่ายมาก นั่นคือเลือกช่วงสงกรานต์ เพราะวันหยุดเยอะใช้วันลาน้อยสุด เที่ยวได้นานสุด ช่วงสงกรานต์ก็จะตรงกับช่วงฤดูใบไม้ผลิ เราก็คาดหวังว่ามันจะเขียว ๆ หน่อย บนเขาอาจะไม่เหลือหิมะให้เห็นแล้ว แต่ที่ไหนได้ปีที่ไป (2018) ดันหนาวนาน ผ่านไปครึ่งทริปต้นไม้ยังโกร๋นอยู่เลย กว่าจะผลิใบก็จะกลับบ้านแล้ว เลยเหมือนโชคดีได้เที่ยว 2 ฤดู ได้เห็นหิมะที่ข้างทาง บนยอดเขา แต่ก็อดชมความงามของ สวนวัง Linderhof เพราะมันปิด

 

ขั้นตอนที่ 3 จองตั๋วเครื่องบิน

หลังจากได้วันเดินทางโดยประมาณแล้ว เราก็เริ่มส่องหาตั๋วโปรกัน เดี๋ยวนี้เรามีช่องทางหาตั๋วโปรกันเยอะไม่ว่าจะเป็นเว็บ SkyScanner, Expedia และ Facebook หลาย ๆ Page เช่น เพื่อนบอกโปร, Ar-Pae.com เป็นต้น ส่วนเรื่องราคาแต่ละคนมีความอดทนไม่เท่ากัน เราก็ไม่รู้ว่าโปรที่ออกมาจะมีถูกกว่านี้ออกมาอีกไหม เรื่องราคาถ้าเราพอใจแล้วก็จองเถอะครับ จะได้หมดเรื่องกังวลใจไปว่าจะได้บินไหม

 

บินไปลงไหนดี

เบื้องต้นเราต้องพอรู้แล้วครับว่าจะไปประเทศไหนบ้าง ผมเองตั้งใจไว้แล้วว่าจะไป 3 ประเทศ คือ เยอรมัน ออสเตรีย และ สาธารณรัฐเช็ก และ ตั้งใจบินไปกลับจากสนามบินเดียวกัน โดยขับรถเที่ยวเป็นวงกลมเพื่อให้เก็บเมืองได้มากที่สุด แถมไม่ต้องขับย้อนกลับทางเดิม พอได้โจทย์มาแบบนี้จะเหลือเมืองที่ให้เลือกซื้อตั๋วเครื่องบินไม่กี่เมืองแล้วครับ ของผมจะเหลือ มิวนิค เวียนนา หรือไม่ก็ ปราก เราก็รอดูโปรตามเมืองพวกนี้ได้เลย

 

บินตรงหรือต่อเครื่อง

ส่วนใหญ่ราคาตั๋วบินตรงมักจะแพงกว่าตั๋วที่ต้อง Transit ระหว่างทาง ส่วนตัวผมชอบแบบต่อเครื่องที่ตะวันออกกลาง เพราะจะใช้เวลาบินประมาณครึ่งครึ่ง คือบิน 6 ชั่วโมง แล้ว ต่ออีก 6 ชั่วโมง ทำให้รู้สึกว่าไม่ต้องนั่งบนเครื่องนานจนเกินไป แต่ถ้าใครนั่ง Business Class คงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้เท่าไหร่ มีบางช่วงที่ Singapore Airline ออกโปรดี ๆ มาเหมือนกัน แต่ผมก็ไม่กล้าจอง เพราะต้องไป Transit ที่ชางฮี บินไป 2 ชั่วโมงกว่า แล้วต่อเครื่องอีก 15 ชั่วโมงมันนานเกิน ถึงจะเป็นสายการบินที่ดีที่สุดในโลกตอนนี้ก็เถอะ

 

ลองขยับวันเข้าออกเล็กน้อยตอนจองตั๋ว

ตอนผมเดินทางได้ตั๋วไปกลับ Munich ของ Emirate ที่ราคา 25,500 บาท ช่วงสงกรานต์ จองตั้งแต่เดือนกันยายนโน้น ตอนแรกเลือกวันขาไปก่อนวันหยุดจักรี 5 เมษา แล้วกลับวันที่ 15 เมษา ได้ตั๋วราคา 32,000 บาท พอลองขยับไปบินตั้งแต่วันที่ 31 มีนา ราคาเหลือ 25,500 เลย เพราะฉะนั้นตอนจองอย่าลืมขยับวันเข้าออกเล็กน้อยเผื่อจะได้ราคาที่ดีขึ้น

 

ขั้นตอนที่ 4 วางแผนเที่ยว

พอได้ตั๋วเครื่องบิน เราจะรู้จำนวนวันที่เรามีสำหรับเที่ยวแล้ว (ไม่รวมวันเดินทาง) ทีนี้ก็ได้เวลาทำแผนแล้วว่าจะไปเที่ยวไหนบ้าง ในขั้นตอนนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องอ่านเยอะ ๆ จะซื้อหนังสือ ดู Youtube หรือ หาอ่านจากที่คนอื่นไปเที่ยวมาแล้วมารีวิวก็ได้ ในกรณีของผมคือเลือกไปแล้วว่าจะเที่ยว 3 ประเทศคือ เยอรมัน ออสเตรีย และ สาธารณรัฐเช็ก เพราะดูจากรีวิวทั้งหลายนี่แหละ แล้วเลือกว่าเส้นทางไหนที่ผ่านจุดที่เราอยากไปมากที่สุด ทริปนี้จุดหมายหลักของผมอยู่ที่ Hallstatt หมู่บ้านริมทะเลสาบที่สวยที่สุดในโลก ที่อยู่ในประเทศออสเตรีย จุดหมายรองก็เช่น ปราสาท Neuschwanstein ต้นแบบปราสาท Disney เมืองโรแมนติกสวย ๆ อย่าง ปราก สาธารณรัฐเช็ก และเมืองน่ารัก ๆ อย่าง Mittenwald หรือ Rothenburg ในเยอรมัน

 

ศึกษาเส้นทางและที่เที่ยวเพิ่มเติมระหว่างทาง

พอได้จุดที่น่าสนใจมาประมาณหนึ่ง เราก็สามารถหาข้อมูลที่เที่ยวระหว่างทางได้จาก Internet อย่างรายการ Boarding Pass ของช่อง Travel Channel ที่ตอนนี้เจ๊งไปแล้ว ก็เป็นรายการที่ดีมากในเรื่องข้อมูลเที่ยว ลองหาดูใน Youtube ได้เลย พอเริ่มหาข้อมูลเราก็จะสามารถใส่ที่เที่ยวระหว่างทางได้มากขึ้น ผมเจอที่เที่ยวแถว ๆ เมือง Innsbruck มากมาย เช่น Stubai Gracier หรือ Top of Tirol ยอดเขาสูงที่สุดของออสเตรีย เจอที่เที่ยวมากมายใกล้เมือง Sulzburg เยอะจนต้องตัดออกจากแผน เจอเมืองริมทะเลสาปเก๋ ๆ อย่าง St.Wolfgang และ เมืองสวย ๆ อย่าง Cesky Krumlov และ Karlovy Vary ของสาธารณรัฐเช็ก ท้ายที่สุดเราจะสามารถวาดเส้นทางของทริปคราว ๆ ได้ อย่างของผมจะเป็นเส้นทางขับรถเป็นวงกลมเริ่มที่ มิวนิคจบที่มิวนิค ตามนี้

 

วันที่ 1 Munich

วันที่ 2 ปราสาท Neuschwanstein, Fussen

วันที่ 3 ทะเลสาป Plansee, ปราสาท Linderhof, Mittenwald, Innsbruck

วันที่ 4 Stubai Glacier, Swarovski, Innsbruck

วันที่ 5 Salzburg

วันที่ 6 Salzburg, St.Wolfgang, Hallstatt

วันที่ 7 Hallstatt, Salzwelten

วันที่ 8 Cesky Krumlov

วันที่ 9 Prague

วันที่ 10 Karlovy Vary, Prague

วันที่ 11 Nuremberg

วันที่ 12 Rothenburg, Nuremberg

วันที่ 13 Ingolstadt village outlet, Munich

วันที่ 14 Munich

 

ทำแผนเป็นภาษาอังกฤษเพราะต้องใช้ตอนขอวีซ่า

ผมใช้ Google Sheet ใน Google Drive ทำแผน เพราะมันเก็บไว้บน Cloud สามารถแชร์กับเพื่อนร่วมทริปได้เลย จะวางแผน หรือ แก้ไขพร้อม ๆ กันก็ได้ ถ้าเป็นไปได้ควรทำแผนเป็นภาษาอังกฤษเลย อาจจะเน้นเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยว เพราะเราต้องใช้แผนในการขอวีซ่าด้วย แผนสำหรับขอวีซ่าอาจจะไม่ต้องทำละเอียดมากแค่ให้รู้ว่าเที่ยวไหน นอนไหน อยู่ประเทศอะไรกี่วันก็พอ แต่ถ้าเป็นแผนเที่ยวของทริป ผมจะทำค่อนข้างละเอียดมีทั้งเวลาเดินทาง รายละเอียด ตำแหน่งใน Google Map รวมถึงรูปของที่เที่ยวนั้น ถ้าตรงไหนมีจุดถ่ายรูปก็จะใส่พิกัดพร้อมวิวที่จะเห็นจากจุดนั้น ๆ ด้วย เวลาไปถึงจะได้รู้ว่าต้องถ่ายอะไร 5555

 

หาที่จอดรถรอไว้เลย

การขับรถในเมืองใหญ่ของยุโรปไม่ใช่เรื่องน่าสนุกเท่าไหร่ โดยเฉพาะวันแรก ๆ เนื่องจากเรายังไม่ชินกับการขับรถพวงมาลัยซ้าย รวมถึงป้ายบอกทางก็ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษกัน การจะมาขับรถวนไปเพื่อหาที่จอดรถไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ เราควรทำการบ้านมาก่อนโดยหาที่จอดรถใกล้ ๆ กับที่เที่ยวของเราจาก Google Map ไว้เลย ที่จอดรถในยุโรปจะมี 2 แบบหลัก ๆ คือ

– แบบแรกคือจอดริมทางแบบที่ไม่ใช่ลานจอดรถแบบมีไม้กั้นทางเข้า ถ้าจอดแบบนี้เราต้องเดินหาตู้หยอดเหรียญเพื่อจ่ายค่าที่จอดรถก่อนจะที่ไปเที่ยว โดยค่าจอดจะคิดตามเวลาที่จอด แต่ละที่ไม่เท่ากันแต่ดูได้จากหน้าตู้เลย จ่ายเงินเสร็จก็เอาใบเสร็จมาวางไว้ตรง Console รถ การจอดแบบนี้ก็ระทึกใจนิดนึงว่า เราต้องกลับมาที่รถก่อนเวลาที่ระบุในใบเสร็จ ไม่งั้นโดยใบสั่ง ผมเคยคิดเหมือนกันว่ามันจะมีคนมาดูด้วยเหรอว่าหมดเวลาหรือยัง ปรากฏว่ามีตำรวจเดินดูตลอดเลยจ้า อย่าได้คิดลองของเชียว

 

– แบบที่สองลานจอดแบบมีไม้กั้น เราจะได้รับบัตรจอด หรือ บางที่ก็เป็นเหรียญมาเก็บไว้ ถ้าเป็นแบบนี้ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินก่อนไปเที่ยว แต่ตอนจะเอารถออกจากลานจอดเราต้องไปหาตู้เพื่อจ่ายเงินก่อน (ภาษาเยอรมันจะเขียนว่า Kassa) แล้วจะได้บัตรหรือเหรียญเอามาใส่เพื่อเปิดไม้กั้นขาออก ที่จอดแบบนี้เที่ยวได้สบายใจ แล้วค่อยกลับมาหน้ามืดตอนจ่ายเงินค่าที่จอด เพราะเที่ยวเพลิน 5555

 

จอดแค่ 2 ชั่วโมงครึ่ง โดนไป 7.2 ยูโร

จริง ๆ ที่จอดในยุโรปยังมีอีกหลายแบบ อย่างในสาธารณรัฐเช็กเราต้องจ่ายล่วงหน้าผ่านโรงแรมที่พักเป็นรายวันแล้วจะมีโซนกำหนดให้ว่าจอดตรงไหนได้ ซับซ้อนได้อีก

ขั้นตอนที่ 5 จองรถเช่า

 

พอทำแผนเที่ยวเสร็จ เราจะรู้แล้วว่า จะเช่ารถที่ไหนคืนรถที่ไหน ในแผนของผมคือ จะเช่ารถเช้าวันที่ 2 ตอนจะไปปราสาท Neuschwanstein และจะคืนรถวันที่ 13 หลังจากเข้าที่พักคืนสุดท้ายที่มิวนิค โดยวันแรกกับวันสุดท้ายจะเที่ยวด้วยตั๋วรถไฟ Airport-City-Day-Ticket สำหรับกลุ่ม 5 คน ตั๋วนี้นอกจากขึ้นรถไฟฟรีในเมืองมิวนิคแล้ว ยังสามารถเดินทางไปกลับสนามบินได้เลย ราคาตั๋วก็แค่ 24.30 ยูโร หาร 4 คนแล้วตกคนละ 2 ร้อยกว่าบาทเท่านั้นถูกมั๊ก ๆ

สรุปแล้วผมต้องจองรถเช่าทั้งหมด 12 วัน (รับรถเช้าวันที่ 2 เมษายน คืนรถเย็นวันที่ 13 เมษายน) จากนั้นก็เข้าเว็บจองรถได้เลยค่ายรถเช่าที่ให้บริการที่เยอรมัน ก็มีให้เลือกเยอะอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Avis, Budget, Sixt, Hertz และ Europcar ตอนแรกผมใช้เว็บ Rentalcars.com (เจ้าของเดียวกับ Booking.com) หารถ เพราะเว็บนี้จะหารถเช่าให้ทุกยี่ห้อเลย แต่สุดท้ายไปจองผ่าน Europcar.com เหตุผลง่าย ๆ คือไป Search เจอ Coupon ส่วนลด 10% รถที่ผมจองไว้เป็น Volkswagen Golf Varant VII เป็นรถ 5 ประตูด้านหลังเก็บกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ได้ 2 ใบ ใบเล็ก 1 ใบ เบ็ดเสร็จค่าเช่ารถจ่ายไปที่ 500 ยูโร เฉลี่ยต่อวันประมาณ 42 ยูโร หรือประมาณ 1,700 บาทต่อวันถือว่าไม่แพงเลย

 

จะเช่ารถต้องเลือกอะไรบ้าง

สิ่งที่ต้องดูก่อนเลือกรุ่นหรือยี่ห้อรถที่จะเช่าคือ Spec คร่าว ๆ เช่นนั่งได้กี่ที่นั่ง มีกี่ประตู ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าไปกัน 4 คนเรื่องพวกนี้จะไม่ใช่ปัญหา ทีนี้มาดู Spec ที่ต้องเลือกให้เหมาะกับทริปของเรา ได้แก่

– เกียร์ รถเกียร์ออโต้จะแพงกว่าเกียร์กระปุก แถมยังมีให้เลือกรุ่นน้อยกว่าด้วย ถ้าสนใจจะขับเกียร์ออโต้ต้องรีบจองหน่อย อย่าลืมว่าที่ยุโรปขับพวงมาลัยซ้าย เราจะไม่ชินกับการมองอยู่แล้ว ถ้าต้องพะวงกับเรื่องเกียร์กระปุกอีกคงไม่สนุก แต่ถ้าใครอยู่ไทยขับเกียร์กระปุกอยู่แล้ว จะเลือกจองแบบเกียร์กระปุกก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้

– จำนวนกิโลที่วิ่งได้ บางบริษัทรถเช่าจะมีการจำกัดจำนวนกิโลที่สามารถวิ่งได้ตามจำนวนวันที่เช่า อย่างที่ Europcar จะจำกัดที่ 300 กิโลต่อวัน บางวันวิ่งเกินบางวันวิ่งขาดได้ แต่รวมจำนวนวันที่เช่าแล้ว ต้องไม่เกินวันละ 300 กิโล เช่นผมเช่า 12 วัน ตอนคืนรถต้องวิ่งไม่เกิน 3,600 โล

– จำนวนกระเป๋าที่ใส่ได้ อันนี้แหละคือส่วนที่สำคัญที่สุด ปกติถ้าเป็นรถไม่ใหญ่มากจะสามารถใส่กระเป๋าได้ 2 ใบ ใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อยก็ใส่ได้ 3 ใบ แต่ก็ปกติเวลาเราไปเที่ยวก็ต้องมีประเป๋าเดินทางอย่างน้อยคนละใบ ไป 4 คนก็ 4 ใบ ซึ่งรถมันจะใส่ไม่พอ ผมแก้ปัญหาโดยเอากระเป๋าไป 3 ใบ แล้วเอาเป้ Backpack 55 ลิตร ไป 1 ใบวางไว้ในรถตรงกลางของเบาะหลัง แล้วเลือกเช่ารถที่ใส่กระเป๋าได้ 3 ใบ

 

รถหรูจากเยอรมันขับเข้าสาธารณรัฐเช็กไม่ได้

เคยได้ยินจากเพื่อนบ้านว่า เค้าเคยจอง Audi ไว้ที่เยอรมัน ตอนไปรับรถพอเจ้าหน้าที่รู้ว่าจะขับเข้าเช็กด้วยก็บอกว่าขับเข้าไม่ได้ต้อง Downgrade รถลงเป็น Volk เลยซวยกันไป ซึ่งปกติไม่เห็นเคยมีใครบอกเรื่องนี้ ตอนหาข้อมูลเลย Email ไปถามที่ Rentalcars.com ได้คำตอบมาว่า Benz ,Audi, Volkswagen และ BMW ขับเข้าเช็กไม่ได้เลย เข้าไม่ได้สักยี่ห้อแล้วจะทำไง เลยส่งข้อมูลรถที่จะเช่าไปให้ ปรากฏว่า Volk เข้าได้แต่ต้องเสียค่าข้ามแดน 15 ยูโร + ภาษี

 

พอรู้แบบนี้แล้วตอนจองเราก็ไม่เลือกรถหรู ทั้งที่จริง ๆ อยากลองขับรถแพง ๆ กับเค้าบ้างเหมือนกัน ราคาเพิ่มอีกนิดเดียวเอง แต่สุดท้ายก็เอาปลอดภัย เลือก Volk ไว้ก่อน แล้วตอนจองตรงกับ Europcar ต้องเลือก Option Cross Border Fee ด้วยราคาก็ประมาณ 15 ยูโรนี่แหละ แต่ตอนจะจองที่ Europcar ผมก็มี Chat ไปถามเจ้าหน้าของ Europcar มาด้วยเหมือนกันเรื่องนี้ เค้าตอบว่า Cross Border Fee เป็นเหมือนค่า Support ข้ามประเทศ ในกรณีที่เช่าประเทศนึง แล้วอาจจะไปเกิดอุบัติเหตุ หรือ รถเสีย อีกประเทศนึงต้องเลือก Option นี้ด้วยไม่งั้นจะรวมในประกัน เราก็ควรเลือกไว้ก่อนเนอะราคาก็ไม่ได้แพงมาก

 

แต่ส่วนที่ตลกที่สุดของเรื่องนี้ วันที่ไปรับจริง ผมดันได้ Benz B180 ตอนรับกุญแจมาก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอน้องปลาเห็นแล้วทักว่าทำไมกุญแจเป็น Benz อะ เค้าห้ามเอาเข้าเช็กหนิ … อ้าว … ชิบหายแล้ว เลยเดินกลับไปถามเจ้าหน้าที่ที่ให้กุญแจมา พร้อมกับบอกว่าเราจะขับรถเข้าสาธารณรัฐเช็กด้วยนะ ทันใดนั้นเจ้าหน้าที่ก็ตอบด้วยสีหน้าแปลกใจว่า “แล้วไง” สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเข้าได้ไม่มีปัญหาอะไร เอาไงกันแน่วะ จนถึงตอนนี้ยังไม่แน่ใจเลยถ้าจอง Benz ไปแล้วถึงเวลาจะเข้าได้ไหม

 

GPS ต้องซื้อเพิ่มด้วยไหม

ผมตั้งใจใช้ Google Map ในการนำทางอยู่แล้ว เพราะในนั้นปักตำแหน่งที่ต้องการไปไว้หมดแล้ว จะไปหาใน GPS อีกทีก็เสียเวลา เลยเลือกไม่เอา GPS แต่ปรากฎว่าพอรถได้ Upgrade เป็น Benz มันมาพร้อมกับ GPS ในตัวด้วย ซึ่งผมไม่ได้ใช้นำทางแต่เปิดแผนที่ให้มันแสดงไว้ตลอดตอนขับรถ ทำให้พบประโยชน์อันใหญ่หลวงของ GPS นั่นคือ “มันแสดง Speed Limit ของถนนที่เราขับอยู่ แถมมีเสียงเตือนเวลาเราขับเร็วเกินกำหนดด้วย” ความสามารถนี้ทำให้ผมรอดจากการโดนใบสั่ง เพราะหลายครั้งที่ขับแล้วไม่ทันดูป้ายจำกัดความเร็วข้างทาง ก็ได้ GPS นี่แหละเตือน ถ้าใครมีปัญหาเรื่องดูป้ายข้างทางเหมือนผม จะเลือก Option GPS ไปเผื่อก็น่าจะดีเหมือนกัน

 

อย่าลืม Download Google Offline Map

การเลือกใช้ Google Map นั้นมีข้อดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การปักหมุดไว้ล่วงหน้าจากเมืองไทย หรือ การที่เห็นสภาพการจราจรก่อนเดินทาง แต่ข้อเสียของ Google Map ก็มีนั่นคือ มันใช้ Internet ในการโหลด Map ดังนั้นถ้าไม่มี Net ความซวยจะมาเยือนคนขับรถแน่นอน โชคดีที่ Google Map รุ่นปัจจุบันได้พัฒนามาถึงจุดที่สามารถ Download แผนที่มาเพื่อใช้งานแบบ Offline หรือ ใช้ตอนไม่มี Internet ได้แล้ว อันนี้มีประโยชน์มากเพราะเวลาขับรถข้ามประเทศสัญญาณ Internet มักจะอ่อน หรือ หายไป เพราะต้องมีการเปลี่ยนสัญญาณจาก Operator ประเทศนึงไปอีกประเทศนึง ดังนั้นอย่าลืม Download Google Offline Map มาเตรียมไว้ก่อนเดินทางด้วยล่ะ

 

ต้องซื้อประกันเพิ่มด้วยหรือเปล่า

ปกติแล้วรถเช่าจะมาพร้อมประกันระดับหนึ่ง อย่างของ Europcar จะมาพร้อมกับประกันการขโมย กับ การชนกัน ส่วนที่ไม่อยู่ในประกันคือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนขับและคนโดยสาร รวมถึงข้าวของของเรา และ กระจกหน้า ไฟ และ ยางรถยนต์ แต่ส่วนที่อยู่ในประกันก็เป็นประกันแบบเราต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก (ค่า Excess) ในราคา 1,000 ยูโร หรือเกือบ 4 หมื่นบาท หลายคนเข้าใจว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นเราต้องเสียเงินทันที 1,000 ยูโร แต่จริง ๆ แล้วหากความเสียหายไม่เกินค่า Excess เราจะเสียเงินเท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เช่น ถ้าที่ปัดน้ำฝนหัก ก็จ่ายแค่ค่าที่ปัดน้ำฝน ซึ่งต้องลองไปดูในประกันเดินทางที่เราโดนบังคับซื้อตอนทำ VISA ด้วยว่ามีประกันเรื่องนี้ไหม อย่างประกันที่ผมทำมีช่วยค่าเสียหายส่วนแรกแล้วในวงเงิน 15,000 บาท

หลังจากชั่งน้ำหนักแล้วก็ตัดสินใจว่า วงเงินประมาณนี้น่าจะพอ ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ ผมเลยไม่ได้เพิ่มประกันตรงนี้ไปเพราะต้องจ่ายอีกประมาณ 1 หมื่นบาทตลอดระยะเวลา 12 วัน เพื่อให้ได้ประกันครบทุกอย่างและไม่เสียค่า Excess แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็ต้องแล้วแต่การตัดสินใจของแต่ละคนว่าจะรับความเสี่ยงในระดับไหน ใครอยากจัดเต็มก็เป็นเรื่องที่ดีครับ

 

ขอบคุณที่มา www.couplescape.com/travel/10steps_drive_in_europe1/ 

 

กลับสู่หน้าหลัก https://www.euniceadorno.net